อาคารสองชั้นตรงหัวมุมถนนตลาดเก่านี้ ยกพื้นสูงจากถนนประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร ลึกราว ๑๐ เมตร หลังคาจั่วตัดขวางแบบจีน ชั้นบนเป็นห้องนอนพร้อมกับมีระเบียงและชายคาด้านหน้าถูกแต่งเติมเพิ่มเสน่ห์ด้วยไม้สักฉลุลวดลายโปร่ง เสาไม้รับระเบียงเรียงรายตรงทางเดินด้านล่างเป็นผลมาจากอิทธิพลตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาในสมัยนั้นขณะเดียวกัน บานประตูชั้นบนและชั้นล่างก็กลับเป็นบานเฟี้ยมลูกฟักไม้สักแบบจีน การตกแต่งทางเข้าด้านหน้าทำอย่างวิจิตร เหนือประตูเป็นช่องประดับไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษาอ่อนช้อยแปลกตารูปครึ่งวงกลม ค้ำยันระหว่างพื้นชั้นสองและเสารายระเบียงด้านหน้าฉลุประดับตกแต่งเสาเม็ดเล็กๆ ทแยงมุมนี่เองที่ทำให้ น. ณ ปากน้ำ ชื่นชมอาคารฟองหลีว่าศิลปะลายฉลุแบบขนมปังขิงฝีมือประณีตมาก โดยเฉพาะลายเท้าแขนตรงมุมหัวเสาและลายช่องลมโค้งของประตูซึ่งแปลกกว่าที่อื่น น่าสังเกตว่า งานไม้อันชวนตะลึงพรึงเพริดทั้งหมดของอาคารฟองหลีล้วนไม่มีการทาสี บ่งบอกถึงความเป็นอาคารอิฐผสมไม้ในยุคแรกๆ ที่เรือนขนมปังขิงแพร่หลายเข้ามาในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ คาบเกี่ยวต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ ให้รายละเอียดไว้ใน “แบบแผนบ้านเรือนในสยาม” ว่า อาคารในยุคนี้หน้าจั่วจะไม่มีการฉลุอย่างหรูหรา มีแต่ครีบหลังคาบกับลายฉลุใต้มุมแหลมของจั่ว มีช่องลมเหนือหน้าต่างโค้ง และบางทีก็มีกันสาด เสาที่มุขหรือเฉลียงจะเป็นเสากลมโดนกลึงอย่างงดงาม บางแห่งมีทวยหูช้างใต้ชายคา หรือทำเป็นแบบทวยหูช้างอยู่ตรงมุมหัวเสากับคานข้างบน ด้านผนังอาคารเป็นแบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก หนาราว ๔๐ เซนติเมตร มีการเสริมบัวหงายแบบฝรั่งคาดระหว่างชั้นบนและชั้นบนล่างภายนอกอาคาร ขอบหน้าต่างมีการทำคิ้วก่อบัวเป็นลายปูนปั้นแบบตะวันตกไว้เหนือหน้าต่างเพื่อกันน้ำฝนตกหยดย้อย หน้าต่างมีบานเกล็ดไม้ให้ลมเข้า โดยสามารถเปิดบานกระทุ้งหรือเปิดทั้งหมดได้ตลอดแนวเหมือนบานประตู มีการใช้บานพับ กลอน และเหล็กเส้นกับประตูหน้าต่างอันเป็นวัสดุที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนการยึดไม้ใช้ระบบเดือยและสลัก ทั้งยังสำรวจพบว่ามีการนำตะปูจีนมาใช้ด้วยนับเป็นการผสมกลมกลืนกันระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออกได้อย่างน่าชมเหลือเกิน ผู้สร้างความงดงามให้อาคารฟองหลีชื่อ “จีนฟอง” หรือเจ้าสัวฟอง ผู้ซึ่งได้รับสัมปทานป่าไม้ ทั้งยังเป็นเจ้าภาษีนายอากรฝิ่นและสุราของเมืองลำปาง นับเป็นชาวจีนที่มีฐานะดีที่สุด เจ้าสัวฟองยังสนิทสนมกับเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้คลองนครลำปางองค์สุดท้าย ซึ่งได้ตั้งนามสกุลให้เจ้าสัวฟองว่าฟองอาภา
อาคารฟองหลีเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อหน้าจั่วด้านทิศตะวันตกพังทลายลงมา ทางจังหวัดจึงได้มีหนังสือเตือนให้ซ่อมแชม และในที่สุดก็มีคำสั่งรื้อถอนภายใน ๗ วัน แม้เจ้าของอาคารในขณะนั้นมีความคิดที่จะอนุรักษ์อาคารแห่งนี้ไว้ หากแต่ก็ต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก เพราะนี่ไม่ใช่แค่งานก่อสร้างธรรมดาว่าเปรียบได้กับการบูรณะศิลปสถาปัตยกรรมเลยทีเดียว หากเจ้าสัวฟองคือผู้รังสรรค์อาคารฟองหลีในอดีต ก็อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ยึดโยงสายใยระหว่างอดีตกับปัจจุบันไม่ให้ตกหล่นไปอย่างน่าเสียดาย คือกิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล เจ้าของอาคารฟองหลีคนปัจจุบันที่ร่วมอนุรักษ์ไว้ ๓ คูหา และทายาทตระกูล “สุรวิชัย” อนุรักษ์ไว้ ๑ คูหา ทั้งนี้ กิติศักดิ์ยังได้สันนิษฐานว่าอาคารแห่งนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๔๔๔ เนื่องจากระหว่างการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีการพบตราของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาบนหัวเสาไม้ของอาคาร ซึ่งบริษัทดังกล่าวเข้ามาตั้งสาขาในจังหวัดลำปางเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔
หลังจากระดมทีมงานเก็บข้อมูลทางกายภาพ พร้อมทั้งคัดลอกแบบรายละเอียดและเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแล้วเสร็จ การซ่อมแซมอาคารจึงดำเนินไปอย่างรอบคอบ โดยใช้เวลาถึง ๒ ปีในอันที่จะประคับประคองอาคารอันปี่ยมเสน่ห์ไม่ให้ร่วงโรยไปตามกาลเวลา กระทั่งกลับมาอวดความงามได้อีกครั้ง ทั้งยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลป์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี ๒๕๕๑ ประเภทอาคารพาณิชย์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกวันนี้ อาคารฟองหลีที่มี ๔ คูหา มูลนิธินิยม ปัทมะเสวีเปิด ๒ คูหาเป็นศูนย์การเรียนรู้ปัทมะเสวีเพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กๆ และชาวลำปาง โดยมีห้องสมุดและมีการกำหนดจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอยู่เนืองๆ สร้างชีวิตชีวาให้อาคารเก่าแก่แห่งนี้ได้ทำหน้าที่รับใช้ชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างแยบยลและร่วมสมัย